นาฏศิลป์


นาฏศิลป์ไทย


 
การกำเนิดนาฏศิลป์ไทย

                   นาฏศิลป์เป็นศิลปะแห่งการละคร การฟ้อนรำ และดนตรี อันมีรูปแบบปฏิบัติตามคัมภีร์นาฏะหรือนาฏยะ ซึ่งกำหนดว่าต้องประกอบด้วยศิลปะ ๓ ประการ คือ การฟ้อนรำ การดนตรีและการขับร้องรวมเข้าด้วยกัน นาฏศิลป์ไทยมีที่มาและเกิดขึ้นจากสาเหตุตามแนวคิดต่างๆ แล้วสะท้อนออกมาเป็นท่าทางแบบธรรมชาติและประดิษฐ์ขึ้นเป็นท่าฟ้อนรำหรือเกิดจากความเชื่อในเทพเจ้าโดยแสดงความเคารพบูชาด้วยการขับร้อง เต้น และฟ้อนรำ

                    นอกจากนี้นาฏศิลป์ไทยยังได้รับอิทธิพลจากต่างชาติเข้ามาผสมผสานด้วย เช่นวัฒนธรรมอินเดียเกี่ยวกับวรรณกรรมที่เกี่ยวกับเทพเจ้าและตำนานการฟ้อนรำผ่านสู่ประเทศไทยทั้งทางตรงและทางอ้อมคือ  ผ่านชนชาติชวาและเขมร  ก่อนจะนำมาปรับปรุงให้เป็นรูปแบบตามเอกลักษณ์ของไทย    บรรดาผู้เชี่ยวชาญที่ศึกษาทางด้านนาฏศิลป์ไทยได้สันนิษฐานว่าอารยธรรมทางศิลปะด้านนาฏศิลป์ของอินเดีย  ได้เผยแพร่สู่ประเทศไทยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตามประวัติการสร้างเทวาลัยศิวะนาฏราชที่สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๑๘๐๐ ซึ่งเป็นระยะที่ไทยเริ่มก่อตั้งกรุงสุโขทัยประเภทของนาฏศิลป์ไทย
นาฏศิลป์ไทยแบ่งตามลักษณะของการแสดงได้ ๔ ประเภทดังนี้

              ๑.โขน เป็นการแสดงนาฏศิลป์ชั้นสูงของไทยโขนมีเอกลักษณ์คือผู้แสดงจะต้องสวมหัวที่เรียกว่า หัวโขนหมดทุกตัว ยกเว้นตัวพระ ตัวนางและเทวดา จะใช้ลีลาท่าทางการแสดงด้วยการเต้นไปตามบทพากย์ บทเจรจาของผู้พากย์และตามทำนองเพลงหน้าพาทย์ที่บรรเลงด้วยวงปี่พาทย์ ที่นิยมแสดงคือ ละครรามเกียรติ์ ใช้เครื่องแต่งกายแบบ ยืนเครื่อง มีจารีตขั้นตอนการแสดงที่เป็นแบบแผน  นิยมจัดแสดงเฉพาะงานพระราชพิธีสำคัญๆ


              ๒.ละคร เป็นเรื่องราวในลักษณะของการสนธนาที่กล่าวถึงความขัดแย้งและสภาพความเป็นไปของชีวิตด้านต่างๆ

                     เป็นการแสดงที่ผูกเป็นเรื่อง แต่เนื้อเรื่อง ข้อความ จะประกอบด้วยเหตุการณ์ที่เกี่ยวโยงสัมพันธ์กับส่วนประกอบอื่นๆ เช่น ฉาก แสง เสียง เป็นต้น ละครไทยแต่เดิมจะจัดแสดงกลางแจ้งไม่มีสิ่งประกอบอะไรทั้งสิ้นแต่จะต้องมีการฟ้อนรำ  การบรรเลงดนตรี  การขับร้อง  และการเจรจาตามความเหมาะสมของเนื้อเรื่อง  ในสมัยอยุธยามีการแสดงละครต่างๆ  ถึง ๒๑  เรื่องคือ

                      ๑. การะเกด
                      ๒.คาวี  
                      ๓.ไชยทัต  
                      ๔.พิกุลทอง  
                      ๕.พิมพ์สวรรค์ 
                      ๖.พิณสุริวงศ์  
                      ๗.มโนราห์  
                      ๘.โม่งป่า  
                      ๙.มณีพิชัย   
                      ๑๐.สังข์ทอง
                      ๑๑.สังข์ศิลป์ชัย
                      ๑๒.สุวรรณศิลป์  
                      ๑๓.สุวรรณหงส์
                      ๑๔.โสวัต
                      ๑๕.อิเหนา (ดาหลัง)
                      ๑๖.ไกรทอง
                      ๑๗.โคตรบุตร
                      ๑๘.ไชยเชษฐ์ 
                      ๑๙.พระรถ
                      ๒๐.ศิลป์สุริวงศ์ 
                      ๒๑.อุณรุท

ละครไทยแบ่งออกเป็น ๓ ประเภท คือ

               ๒.๑ ละครรำ คือ ละครที่ใช้ศิลปะการรำเป็นส่วนใหญ่ โดยนำนาฏศิลป์ ดนตรี เพลงร้องและบทร้อยกรองมาประกอบเข้าด้วยกัน การแต่งกายจะแต่งของละครนั้นๆ ละครรำสามารถจำแนกออกได้ ดังนี้

                     ๑) ละครโนรา เรียกเต็มๆว่า “มโนราห์” เป็นต้นกำเนิดของละครรำ เป็นการแสดงที่แพร่หลายในภาคใต้ ใช้ตัวแสดงเพียง ๓ ตัว ใช้ผู้แสดงชายล้วน ละครโนราจะแสดงเฉพาะเรื่องชาดก ที่นิยมแสดงมี ๒ เรื่อง แต่ส่วนมากจะแสดงเรื่องพระสุธนมโนราห์จนเรียกติดปากว่า “ละครโนรา” 

                     ๒) ละครชาตรี เป็นการแสดงใกล้เคียงกับละครมโนรา เพราะดัดมาจากละครโนราโดยตรงจนเรียกว่า “โนราชาตรี” แต่ละครนี้แสดงยากขึ้น เครื่องดนตรีเพิ่มขึ้น

                     ๓) ละครนอก เป็นละครที่วิวัฒนาการมาจากละครโนรา ใช้ลีลาท่ารำไปตามจังหวะมุ่งหมายที่จะดำเนินเรื่องโดยเร็ว มุ่งตลกขบขัน เพลงที่ใช้ร้องจะไม่มีลีลา จะมีการเอื้อนมาและใช้ระดับเสียงผู้ชายซึ่งเรียกว่า “เสียงนอก”

                    ๔) ละครใน เป็นละครที่มีความประณีต พิถีพิถัน มุ่งหมายให้เห็นความประณีตของศิลปะมากกว่าเนื้อเรื่อง แต่งกายยืนเครื่องเหมือนละครนอก เพลงร้องมีทำนองไพเราะ เชื่องช้า คำว่า “ละครใน” มาจากชื่อเต็มว่า “ละครนางใน” คือ ใช้ผู้แสดงเป็นสตรีในราชสำนัก

                    ๕) ละครดึกดำบรรพ์ เป็นละครรำชนิดปรับปรุงใหม่ มีวิธีแปลกออกไปคือ ผู้แสดงร้องเอง มุ่งการร้องเป็นการเป็นสำคัญเท่ากับการรำ และเป็นละครที่เริ่มมีฉากแสดงตามท้องเรื่อง สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์และเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ทรงร่วมกันปรับปรุงใหม่

                     ๖) ละครพันทาง เป็นละครผสม ซึ่งพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ทรงปรับปรุงการแสดงขึ้น จะแสดงบนเวที โดยมีการเปลี่ยนฉากไปตามท้องเรื่อง มีการยึดแบบแผนของละครนอก

                 ๒.๒ ละครร้อง เป็นละครที่เริ่มมีฉากแสดงตามท้องเรื่อง สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์และเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ทรงร่วมกันปรับปรุงใหม่ จะแสดงบนเวที โดยมีการเปลี่ยนฉากไปตามท้องเรื่อง

                 ละครร้องแบ่งได้เป็นประเภทต่างๆดังนี้

                       ๑) ละครร้องล้วน ร้องสำคัญ คือ ใช้เพลงร้องตลอดเรื่อง
                       ๒) ละครพูดสลับลำ หรือละครที่ทั้งร้อง ทั้งเจรจา
                       ๓) ละครสังคีต คือ ละครที่มีทั้งร้องทั้งเจรจาเป็นส่วนสำคัญเสมอกัน

                 ๒.๓ ละครพูด เป็นละครที่มีนิยมแพร่หลายในสมัยราชกาลที่ ๖ ละครพูดตอนแรกทรงเรียกว่า “ละครทวีปัญญา” ต่อมาทรงตั้งชื่อเป็นหลักฐานว่า “ละครศรีอยุธยา” ตามพระนามปากกาของท่าน ละครพูดเป็นละครที่แสดงบนเวที การแต่งกายแต่งไปตามสภาพจริงของท้องเรื่อง


              ๓. รำ และระบำ เป็นศิลปะแห่งการร่ายรำประกอบเพลงดนตรีและบทขับร้อง โดยไม่เล่นเป็นเรื่องราว ในที่นี้หมายถึงรำ และระบำที่มีลักษณะเป็นการแสดงแบบมาตรฐาน ซึ่งมีความหมายดังนี้

                  ๓.๑ รำ คือ ศิลปะการแสดงที่มุ่งความงามของการร่ายรำ มีผู้แสดงตั้งแต่ ๑-๒ คน มีลักษณะการแต่งกายตามรูปแบบของการแสดง ไม่เล่นเป็นเรื่องราว อาจมีบทขับร้องประกอบการรำเข้ากับทำนองเพลงดนตรี มีกระบวนท่า โดยการรำคู่  จะต่างกับระบำเนื่องจากท่ารำจะมีความสอดคล้องต่อเนื่องกัน

                  ๓.๒ ระบำ คือ ศิลปะการแสดงที่มีความสวยงาม และความบันเทิงเป็นสำคัญมีผู้แสดงตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไป ลักษณะการแต่งกายและกระบวนท่าร่ายรำคล้ายคลึงกัน ไม่เล่นเป็นเรื่องราว นิยมการแต่งกายยืนเครื่องพระ-นาง หรือแต่งแบบนางในราชสำนัก


              ๔. การแสดงพื้นเมือง เป็นศิลปะแห่งกายร่ายรำที่มีทั้งรำ ระบำ หรือการละเล่นที่เป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มชนในแต่ละภูมิภาค ซึ่งสามารถแบ่งเป็นภูมิภาคได้ ๔ ภูมิภาคดังนี้

                  ๔.๑ การแสดงพื้นเมืองของภาคเหนือ เป็นศิลปะการรำและการละเล่น หรือที่นิยมเรียกกันว่า “ฟ้อน” การฟ้อนเป็นวัฒนธรรมของชาวล้านนา และกลุ่มชนเผ่าต่างๆ ลักษณะการฟ้อนแบ่งเป็น ๒ แบบ คือ แบบดั้งเดิม และแบบที่ปรับปรุง แต่ยังคงรักษาเอกลักษณ์ทางการแสดงไว้

                  ๔.๒ การแสดงพื้นเมืองของภาคกลาง เป็นศิลปะการรำและการละเล่นของชนชาวพื้นบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่มีอาชีพเกี่ยวกับเกษตรกรรม การแสดงจึงมีความสอดคล้องกับวิถีชีวิตและเพื่อความบันเทิงสนุกสนาน เป็นการพักผ่อนจาการทำงานหรือเมื่อเสร็จจากเทศกาลฤดูเก็บเกี่ยว

                  ๔.๓ การแสดงพื้นเมืองของภาคอีสาน เป็นศิลปะการรำและการละเล่นของชาวพื้นบ้าน แบ่งได้เป็น ๒ กลุ่มวัฒนธรรมใหญ่ๆ คือ กลุ่มอีสานเหนือ มีวัฒนธรรมไทยลาวซึ่งมักเรียกว่า “เซิ้ง ฟ้อน และหมอลำ” ส่วนกลุ่มอีสานใต้ได้รับอิทธิพลมาจากไทยเขมร มีการละเล่นที่เรียกว่า เรือม หรือ เร็อม วงดนตรีที่ใช้เล่นคือ วงมโหรีอีสานใต้

                  ๔.๔ การแสดงพื้นเมืองของภาคใต้ เป็นศิลปะการรำและการละเล่นของชาวพื้นบ้าน แบ่งตามกลุ่มวัฒนธรรมได้ ๒ กลุ่ม คือ วัฒนธรรมไทยพุทธ และวัฒนธรรมไทยมุสลิม มีเครื่องดนตรีประกอบที่สำคัญ ภายหลังได้มีระบำที่ปรับปรุงจากกิจกรรมในวิถีชีวิต และศิลปะชีพต่างๆ



นาฏศิลป์สากล
 



การกำเนิดนาฏศิลป์สากล

               นาฏศิลป์เป็นการแสดงออกทางการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างมีระบบและงดงาม ซึ่งกำเนิดขึ้นมาพร้อมกับธรรมชาติของมนุษย์หรือพฤติกรรมปกติของมนุษย์ที่เรียกกันว่า “ภาษากาย หรือภาษาท่าทาง” ในการแสดงออกทางความรู้สึกและอารมณ์ของมนุษย์ออกมาทางร่างกาย สิ่งเหล่านี้เป็นภาษากายที่เป็นภาษสากลทางนาฏศิลป์ ต่อมามนุษย์มีการพัฒนาโดยนำวัสดุจากธรรมชาติมาประดิษฐ์เป็นเครื่องดนตรี ซึ่งมนุษย์เกิดสนุกสนานไปกับดนตรีจึงทำให้มีการเต้นรำตามจังหวะดนตรีไปด้วย ดังนั้น การกำเนิดของนาฏศิลป์สากลจึงเกิดขึ้นจากธรรมชาติและความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ดังนี้

                 ๑) การกำเนิดของนาฏศิลป์จากธรรมชาติ เริ่มจากมนุษย์รู้จักการเต้นรำและการเลียนแบบการเคลื่อนไหวของสิ่งมีชีวิตทั้งจากสัตว์ พืช และมนุษย์ด้วยกันเอง จากนั้นก็ได้มีการพัฒนาท่าทางและการขยับร่างกายตามความรู้สึกของมนุษย์ที่แสดงถึงอารมณ์ต่างๆ ตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นที่มาของการแสดงละครที่เริ่มต้นจากละครพูด โดยการพูดทำท่าทางการแสดงอารมณ์ต่างๆ และการแต่งกายตามบท ซึ่งเป็นเรื่องราวที่มาจากชีวิตจริงของมนุษย์แตกต่างกันไป

                ๒) การกำเนิดของนาฏศิลป์จากความเชื่อถือศรัทธาในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย มนุษย์ต้องอยู่ร่วมกันในสังคมและมีสัญชาตญาณแห่งความกลัว จึงทำให้มนุษย์พยายามหาสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจด้วยการนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ซึ่งพัฒนามาเป็นความศรัทธาในลัทธิศาสนาต่อไป
               สำหรับประวัติความเป็นมาของนาฏศิลป์สากลที่เด่นชัด คือ ศิลปะการละครของชาวตะวันตกที่เรียกว่า “ละครตะวันตก” โดยเริ่มขึ้นตามลำดับดังนี้

               ๑. ละครตะวันตดในสมัยกรีกโบราณ เริ่มจากการแสดงเรื่องราว เกี่ยวกับเทพเจ้าไดโอนีซุส (Dionysus) ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งความอุดมสมบูรณ์ การบูชาจะจัดขึ้นปีละครั้ง โดยมีการแสดงละครที่โรงละครกลางแจ้ง จากนั้นก็พัฒนาเป็นละครเกี่ยวกับเรื่องราวของมนุษย์

               ๒. ละครตะวันตกในสมัยโรมัน เริ่มจากการนำรูปแบบของละครกรีกโบราณในเรื่องพิธีกรรมทางศาสนาที่เกี่ยวกับการบูชาเทพเจ้ามาปรับปรุง โดยเพิ่มการเต้นรำและการแสดงอารมณ์มากขึ้น อย่างไรก็ตามละครตะวันตกในสมัยโรมันได้ลดบทบาทลงเรื่อยๆ เนื่องจากละครส่วนใหญ่เป็นประเภทสุขนาฏกรรมที่ไม่ค่อยได้แก่นสาร และไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อรับใช้พระเจ้า จึงทำให้มีการออกคำสั่งห้ามไปดูละคร จนที่สุดทุกโรงละครทุกโรงต้องปิดลง

               ต่อมาละครตะวันตกก็ได้มีการฟื้นตัวขึ้นในยุคกลางของประเทศในทวีปยุโรป โดยในช่วงกลางศตวรรษที่ ๑๙ ได้มีการแสดงละครเป็นการแสดงรีวิว ซึ่งเป็นการแสดงที่ไม่เป็นเรื่อง โดยมีทั้งการพูดคนเดียว การร้องเพลง การเต้นรำ และการแสดงมายากล จนมาถึงศตวรรษที่ ๒๐ ตอนต้นรูปแบบการแสดงละครเริ่มหันเข้าสู่การสะท้อนสภาพความเป็นในสังคม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น